ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์

ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์

มีความเชื่อว่าหากถวายไม้ค้ำโพธิ์จะเป็นการช่วยค้ำชูพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

 

อีกหนึ่งประเพณีน่าสนใจในช่วงวันสงกรานต์ของชาวล้านนา คือการ “แห่ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” (สะหลีภาษาเหนือหมายถึงต้นโพธิ์)

 

ตามความเชื่อของชาวพุทธ ต้นไม้ใหญ่มักมีเทวดาอารักษ์สิงสถิตอยู่ โดยเฉพาะต้นโพธิ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ส่วนมากจะปลูกไว้ในวัดแล้ว ยังเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติ โดยพระพุทธเจ้าได้ประทับใต้ต้นโพธิ์เมื่อตรัสรู้อีกด้วย

ไม้ค้ำโพธิ์ ความเชื่อที่ชาวล้านนาปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน

 

ต้นโพธิ์เมื่อเจริญเติบโตจะมีกิ่งก้านสาขาทอดยาว บางกิ่งโน้มเอียงจนเกรงว่าจะหักโค่นยามลมพัดแรง จึงมีคนนำไม้ง่ามมาค้ำยันกิ่งไว้ ไม้ง่ามนั้นเรียกว่า “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” ซึ่งนอกจากจะเป็นการค้ำยันกิ่งไม่ให้ล้มแล้ว ยังมีความหมายไปถึงการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอด

ไม้ค้ำโพธิ์ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง มีทั้งเป็นเสาเหลี่ยม เสากลม บางต้นมีการทำลวดลายประดับอย่างสวยงาม

 

ความเชื่อดังกล่าวเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือโดยทั่วไปในกลุ่มชาวล้านนาทางภาคเหนือของไทย วัดต่างๆ ในภาคเหนือหากมีต้นโพธิ์ใหญ่ก็มักจะมีผู้นำไม้ค้ำสะหลีไปค้ำยันไว้ และในภาคกลางหรือในกรุงเทพฯ ก็ยังพบเห็นภาพความเชื่อดังกล่าวด้วยเช่นกัน และในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ก็ถือเป็นสถานที่ที่เรียกได้ว่ามีความเชื่อและศรัทธาในการถวายไม้ค้ำสะหลี โดยมีการจัดงานประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ที่อำเภอจอมทองมายาวนานถึง 200 กว่าปีแล้ว

งานประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ที่ชาวจอมทองถือปฏิบัติกันมาช้านาน (ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่)

 

ประวัติความเป็นมาของประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลีที่อำเภอจอมทองมีอยู่ว่า เมื่อปี 2314 ครูบาปุ๊ด หรือครูบาพุทธิมาวังโส เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 14 ของวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารในขณะนั้น ได้เกิดลมพายุใหญ่พัดเอากิ่งไม้สะหลี (ต้นโพธิ์) ภายในวัดหักลงมา ต่อมาครูบาปุ๊ดเข้าจำวัดและเกิดนิมิตขึ้นว่า มีเทวดามาบอกว่าที่เกิดเหตุอาเพศลมพัดกิ่งไม้สะหลีหักนั้นเป็นเพราะครูบาปุ๊ดไม่ตั้งใจปฎิบัติธรรมโดยเคร่งครัดขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ที่แต่ละชุมชนในอำเภอจอมทองร่วมกันตกแต่ง (ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่)

 

ต่อมาครูบาปุ๊ดจึงตั้งใจปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมอภิญญาณ และได้บอกเล่าเหตุการณ์ที่ไม้สะหลีหักต่อชาวบ้านที่มาร่วมประชุมฟังเทศน์ ที่ประชุมจึงตกลงไว้ว่า ปีต่อไปประมาณเดือนเมษายน จะร่วมกันไปตัดไม้ง่ามมาช่วยกันค้ำกิ่งต้นไม้สะหลีเอาไว้กันลมพัดหักโค่น และต่อมาในทุกช่วงเดือนเมษายนหลังจากวันสงกรานต์คือวันที่ 15 เมษายน ครูบาปุ๊ดและชาวบ้านได้กำหนดให้มีประเพณีการทำบุญแห่ไม้ค้ำโพธิ์ หรือไม้ค้ำสะหลีทุกปี

ขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์มายังวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร (ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่)

 

ปัจจุบัน งานประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเป็นงานใหญ่ที่ชาวจอมทองยังคงสืบสานไว้อย่างดี ในวันแห่ไม้ค้ำสะหลี ชาวจอมทองไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนต่างก็จะพากันกลับบ้านมารดน้ำดำหัวบุพการีและร่วมกันแห่ไม้ค้ำสะหลีมายังวัดพระธาตุศรีจอมทองฯ กันอย่างเนืองแน่น โดยแต่ละคุ้มบ้าน ชุมชน และห้างร้านต่างๆ จะจัดขบวนรถรวมกว่า 30 ขบวน แห่ไม้ค้ำสะหลีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ไปรอบเมืองจอมทอง ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังวัดพระบรมธาตุศรีจอมทองฯ ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้เฒ่าผู้แก่จะมาร่วมขบวนแห่พร้อมทั้งฟ้อนรำอย่างสนุกสนานตามจังหวะเสียงดนตรีพื้นเมืองอีกด้วย

 

เมื่อถึงวัดพระธาตุศรีจอมทองฯ ทุกคนจะร่วมกันถวายไม้ค้ำสะหลี ค้ำต้นโพธิ์ให้มั่นคงแข็งแรง อีกทั้งทางวัดยังได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่อยู่ในองค์เจดีย์ออกมาให้ประชาชนร่วมสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย

Leave a comment